ACCOUNTING (บัญชี)

เอกสาร หลักฐาน การลงค่าใช้จ่ายบริษัท Ep.1 

 

             หลายคนน่าจะเคยเจอปัญหากันอยู่นะคะ ค่าใช้จ่ายของกิจการที่เกิดขึ้น เป็นค่าใช้จ่ายของกิจการจริง แต่ร้านค้าที่เราไปซื้อของมาใช้กับกิจการ
กลับไม่มีใบเสร็จรับเงินด้วยเหตุผลต่างๆ นาๆ เช่น เป็นชาวบ้านปกติขายของตามตลาด 
เป็นร้านค้าที่ไม่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคล หรือแม้กระทั่งเป็นช่างบ้านๆ
ที่ให้บริการเราเช่น ช่างล้างแอร์ตามบ้าน เป็นต้น รายจ่ายที่บริษัท ทำกับร้านค้า หรือผู้ให้บริการเหล่านี้ มักจะมีปัญหาว่า ไม่มีใบเสร็จรับเงิน แล้วในแง่ของกิจการ
จะลงค่าใช้จ่ายอย่างไรมีเอกสารประกอบเป็นอะไรได้บ้าง เพื่อให้ได้สิทธิทางภาษี

1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ  สามารถขอได้จากผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

2. ใบเสร็จรับเงิน  โดยจะต้องมีชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อ ผู้ขายและรายละเอียดต่างๆให้ชัดเจน

3. บิลเงินสด   โดยจะต้องมีชื่อ ที่อยู่ของผู้ซื้อ ผู้ขายและรายละเอียดต่างๆให้ชัดเจน และขอเอกสารเพิ่มเติมแนบมาด้วย เช่น นามบัตรร้าน

4. ใบสำคัญรับเงิน  เอกสารตัวนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถออกเอกสารตามข้อ 1-3 ข้างต้น  ซึ่งเราจำเป็นจะต้องเป็นคนออก ใบสำคัญรับเงินเอง
โดยให้ผู้ผู้ขาย
เซ็นชื่อกำกับ พร้อมเเนบสำเนาบัตรประชาชน

5. ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน   อกสารตัวนี้จะใช้ในกรณีที่ผู้ประกอบการไม่สามารถออกเอกสารอะไรให้ได้เลยและไม่สะดวกเซ็นเอกสารพร้อมเเนบสำเนา
บัตรประชาชนให้ได้ซึ่งในกรณีรี้เราสามารถออกเอกสารใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงินได้

***ค่าใช้จ่านที่จะนำมาลงได้นั้น จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการเท่านั้น!!***

เอกสาร หลักฐาน การลงค่าใช้จ่ายบริษัท Ep.2 

 

1. ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูป จะต้องมีรายละเอียดดังนี้

-ต้องมีคำว่า "ต้นฉบับใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้ชัด

-ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี พร้อมระบุว่าเป็นสำนักงานใหญ่ หรือ สาขา ที่ออกใบกำกับภาษี

-ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษี พร้อมระบุว่าเป็นสำนักงานใหญ่ หรือ สาขา ของผู้รับบริการ

-หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี (และหมายเลขลำดับของเล่ม ภ้ามี)

-ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า หรือ บริการ ให้ชัดเจน

-จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือบริการ โดยแยกออกจากมูลค่าสินค้า/บริการให้ชัดเจน

-วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

-ข้อความอื่นๆที่อธิบดีกำนหด


2. ใบเสร็จรับเงิน จะต้องมีรายละเอียดดังนี้

-ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ที่ขายสินค้า/ให้บริการ

-ชื่อ ที่อยู่ของผู้รับสินค้า / รับบริการ

-ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า หรือ บริการ ให้ชัดเจน

 

3.บิลเงินสด  คือเอกสารหรือหลักฐานที่เป็นแบบฟอร์มที่สามารถหาซื้อได้ทั่วไปตามร้านค้า ส่วนใหญ่มักเขียนด้วยลายมือ โดยเราจะต้องขอเอกสารเพิ่มเติ่มแนบ

เช่น นามบัตรร้านค้า ที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์ของผู้ขาย/ให้บริการชัดเจน  ที่สำคัญจะต้องมี ชื่อ ที่อยู่ของผู้รับสินค้า / รับบริการด้วย

และจะต้องมีชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า หรือ บริการ ให้ชัดเจน

 

เอกสาร หลักฐาน การลงค่าใช้จ่ายบริษัท Ep.3 

1. ใบสำคัญรับเงิน ใช้กรณีที่ผู้ขาย/ให้บริการ ไม่สามารถออกเอกสารหลักฐานอะไรให้ได้ แต่ยินยอมจะลงรายมือชื่อในช่อง “ผู้รับเงิน”    จะต้องมีรายละเอียดดังนี้

-วันที่ เดือน ปี ที่ออก ใบสำคัญรับเงิน

-เลขที่บิลใบสำคัญรับเงิน

-ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ที่ขายสินค้า/ให้บริการ

-ชื่อ ที่อยู่ของผู้รับสินค้า / รับบริการ

-ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า หรือ บริการ ให้ชัดเจน

**และที่สำคัญจะต้องขอ สำเนาบัตรประชาชนของผู้ขาย/ บริการ แนบมาด้วย**

 

2 .ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน ใช้ในกรณีการจ่ายเงินเพื่อซื้อสินค้าหรือบริการเบ็ดเตล็ด แต่ไม่สามารถเรียกใบเสร็จรับเงินจากผู้ขาย/ให้บริการได้ และไม่สามารถเซ็นชื่อ
กับแนบสำเนาบัตรประชาชนให้ได้
เราจึงต้องให้พนักงานของกิจการเป็นผู้รับรองการจ่ายเงินดังกล่าวเองโดยการใช้ใบรับรองแทนใบเสร็จรับเงิน  จะต้องมีรายละเอียดดังนี้

-ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ที่ขายสินค้า/ให้บริการ

-ชื่อ ที่อยู่ของผู้รับสินค้า / รับบริการ

-ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้า หรือ บริการ ให้ชัดเจน

-วันที่ เดือน ปี ที่ออก ที่จ่ายชำระค่าสินค้า / บริการ


***ค่าใช้จ่านที่จะนำมาลงได้นั้น จะต้องเป็นค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับกิจการเท่านั้น!!***

ลงทุนเครื่องจักรในปี 2563 หักค่าใช้จ่ายได้ถึง 1.5 !!!

ทางสรรพากรได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการให้สามารถหักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับ
การลงทุนในเครื่องจักร
ได้เพิ่มขึ้นเป็น 1.5 เท่า

เครื่องจักรต้องมีลักษณะเข้าเงื่อนไขดังนี้??

  1. เครื่องจักรต้องซื้อเครื่องจักรใหม่เท่านั้น และต้องซื้อมาระหว่างวันที่ 1 มกราคม 63 – 31 ธันวาคม 63 ซึ่งต้องได้มา และอยู่ในสภาพพร้อมใช้งานภายในวันที่ 31 ธันวาคม 63
  2. อยู่ในราชอาณาจักร
  3. ไม่เป็นเครื่องจักรที่ได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีอื่น ตามมาตรการอื่นๆ ของกรมสรรพากร
  4. ไม่เป็นเครื่องจักรที่ใช้ในกิจการที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน

 *แต่ไม่รวมถึง เครื่องจักรที่ซื้อมาเพื่อให้เช่า*

ขั้นตอนการทำเพื่อให้ได้รับสิทธิตามมาตรการ

  1. จัดทำโครงการลงทุนและแผนการลงทุน ตามแบบแจ้งโครงการลงทุนและแผนการจ่ายเงินผ่าน Web Site ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ภายในวันที่ 31 ธันวาคม พ.ศ. 2563
 
  1. จัดทำรายงานแสดงรายละเอียดของเครื่องจักรที่ใช้สิทธิ โดยต้องมีรายการและข้อความอย่างน้อยตามประกาศอธิบดีกรมสรรพากร และต้องเก็บรักษารายงาน รวมทั้งเอกสารประกอบการลงรายการในรายงานไว้ ณ สถานประกอบการ พร้อมที่จะให้เจ้าพนักงานประเมิน ตรวจสอบได้

 

จ่ายเงินสบทบประกันสังคมเกิน !!... เราสามารถขอคืนเงินได้ 

 

   สืบเนื่องจากปีที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมมีมาตรการช่วยเหลือเยียวยานายจ้างและลูกจ้าง โดยมีการลดหย่อนอัตราการส่งเงินสมทบกองทุนประกันสังคม
ทั้งในส่วนของนายจ้างและ
ลูกจ้างกันหลายรอบเลยทีเดียวนะคะดังตารางที่เราได้สรุปไว้ให้  ทำให้นายจ้างหลายราย ในบางเดือนที่มีการลดอัตรา แต่ได้มีการหัก
เงินสมทบในอัตราเดิม ร้อยละ 5  และได้นำส่งสำนักงานประกันสังคมแล้ว เกิดความกังวลใจว่า  เอ๊ะ… แล้วเงินสมทบที่จ่ายไปเกิน จะทำอย่างไรดี จะขอคืนได้ไหม??

 
กรณีที่นำส่งเงินสมทบเกินกว่าอัตราที่กำหนด กฎหมายกำหนดให้ นายจ้าง หรือ ผู้ประกันตน สามารถยื่นคำร้องขอรับเงินส่วนเกินคืน โดยมีขั้นตอนต่อไปนี้ 

 

  • กรอกเอกสารคำขอรับเงินคืน หรือ สปส 1-23/1
  • นายจ้างสามารถยื่นแบบขอรับเงินคืน สปส  1-23/1  ที่สำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ที่สถานประกอบการตั้งอยู่หรือทางไปรษณีย์ก็ได้
  • เจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบเอกสาร และบันทึกเข้าระบบคืนเงิน
  • เจ้าหน้าที่พิจารณาและตรวจสอบข้อมูลประกอบการพิจารณาขอรับเงินคืน
  • เจ้าหน้าที่เสนอแบบคำขอรับเงินคืน เพื่อให้ผู้มีอำนาจลงนามอนุมัติและรับเงินคืน หรือ ไม่เสนออนุมัติ พร้อมบันทึกผลการพิจารณาในระบบคืนเงิน

 

  อันนี้เป็นขั้นตอนคร่าวๆ สำหรับนายจ้างหรือผู้ประกันตนที่มีข้อสงสัย หรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถติดต่อเพื่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม
  ได้ที่ สำนักงานประกันสังคมทั่วประเทศ หรือ สายด่วน 1506

    *กระบวนการขอรับเงินคืนสมทบส่วนเกินจะต้องทำภายใน 1 ปี นับแต่วันที่นำส่งเงิน นะคะ หากเลยกำหนด 1 ปี จะไม่สามารถขอคืนได้* 

อัตรากำไรขั้นต้น สำคัญแค่ไหน❓❓....ชี้เป็น ชี้ตาย บริษัท‼

   วันนี้เราจะมาไขความลับของตัวเลขในงบการเงินของกิจการ เราจะมาดูสัดส่วนทางการเงินที่หลายๆ คนน่าจะรู้จักกันดีก่อน นั่นก็คือ อัตรากำไรขั้นต้น
หรือ
Gross Profit Margin (GP)

ก่อนที่เราจะไปถึงคำว่า อัตรากำไรขั้นต้น หรือ Gross ProfitMargin  เราก็ต้องรู้จักกับคำว่า กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit (GP) กันก่อน !!


กำไรขั้นต้น เกิดจากการเอยอดขาย หักด้วย ต้นทุนของสินค้าที่ขาย  เฉพาะต้นทุนเพียงอย่างเดียวนะคะ ไม่รวมค่าใช้จ่ายในการขายและบริหาร

ถ้าสินค้า หรือบริการของกิจการที่ทำนั้น เมื่อคำนวณ GP แล้ว เป็นยอดติดลบ หรือเป็นศูนย์  แปลว่า กิจการไม่มีกำไรขั้นต้น  ซึ่งถ้าเป็นเช่นนี้
คำถามแรกเลยคือ เป็นไปได้อย่างไรที่เราจะขายสินค้าทั่วไปหรือให้บริการ 
โดยที่ราคาขาย ต่ำกว่าต้นทุน

**อันนี้ต้องบอกก่อนว่า เป็นสินค้าทั่วๆไป นะคะ ไม่ใช่สินค้าที่ขึ้น-ลง ตามราคาตลาด เช่น ทองคำ น้ำมัน ยางพารา เป็นต้น

ซึ่งสินค้าเหล่านี้ บางครั้งเราอาจซื้อมาในวันที่ต้นทุนสูง แต่เราจำเป็นต้องขายในราคาที่ต่ำกว่าทุน ในวันที่ราคาตลาดลดลงได้ **

 

กลับมาในกรณีที่ เราขายเป็นสินค้าปกติ แต่มี GP ติดลบ หรือมีแต่น้อยมากๆจน ไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายอื่นๆ ที่นอกเหนือจากต้นทุน เช่นเงินเดือนพนักงาน
ฝั่ง office ค่าน้ำมัน ค่าขนส่ง แบบนี้นะคะ เราก็ต้องพิจารณาแล้วว่าเราจะผลิต หรือขายสินค้า หรือบริการนี้ต่อไปหรือไม่ เราสามารถปรับปรุงแก้ไขอะไรได้บ้าง
เช่น เพิ่มราคาขาย หรือสามารถลดต้นทุนได้หรือไม่ เช่น เราจะหา Supplier รายอื่น ที่ทำให้ต้นทุนสินค้าเราลดลง

 และถ้าจะให้วิเคราะห์กิจการของเราให้ได้อย่างชัดเจนมากยิ่งขึ้น ถ้าสามารถคำนวณ Gross ProfitMargin แยกเป็นรายกลุ่มสินค้า หรือกลุ่มประเภทรายได้
จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ได้ว่า สินค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละประเภทมีศักยภาพในการทำกำไรมากน้อยเพียงใด

                เช่น สินค้า A มีGP 5%   B มีGP30%  C มีGP40%

นอกจาก Gross ProfitMargin จะใช้ในการประเมินความสามารถในการทำกำไรของตัวสินค้าเองแล้ว

Gross ProfitMargin ยังสามารถช่วยให้เรามองได้ถึงปัญหาของสินค้าแต่ละกลุ่มได้อีกด้วย ว่าเกิดจากอะไร

วิธีการวิเคราะห์คือให้เราเอา Gross ProfitMargin ที่ได้ ของปีปัจจุบัน เปรียบเทียบกับ Gross ProfitMargin ของปีก่อน ถ้าGross ProfitMargin ลดลงจากปีก่อน
หรือมี trend ที่ลดลงต่อเนื่อง เราก็จะต้องเริ่มตรวจสอบแล้วว่า Gross ProfitMargin ลดลงเกิดจากอะไร 
อาจจะเกิดจากราคาขายลดลง เพราะคู่แข่งเข้ามาใน
ตลาดมากขึ้นขายของได้ยากขึ้น เราก็เลยลดราคาขาย
        หรือที่ Gross ProfitMargin ลดลง อาจจะเกิดจากต้นทุนที่สูงขึ้น เราก็ต้องไปหาสาเหตุว่า ที่ต้นทุนสูงขึ้นเพราะอะไร เครื่องจักรซ่อมแซมบ่อย
เพราะเครื่องจักรเก่าแล้วหรือใช้พนักงานใน line การผลิตเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตได้เท่าเดิม ซึ่งกิจการก็ต้องหาทางเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงาน เป็นต้น

        แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ยอดขายและต้นทุนที่นำมาใช้ในการคำนวณ Gross ProfitMargin ต้องเชื่อถือได้ และค่า Gross ProfitMargin ที่เอามาเปรียบเทียบเพื่อใช้ใน
การวิเคราะห์ก็จะต้องอยู่บน standard เดียวกัน เพื่อที่จะเปรียบเทียบกันได้

  ดังนั้นการเก็บข้อมูล เพื่อทำรายงานสำหรับผู้บริหาร (management report) ต้องเป็นยอดที่เชื่อถือได้ เพื่อให้รายงานสำหรับผู้บริหาร (management report)
เป็นรายงานที่มีคุณภาพ และสามารถใช้วิเคราะห์ได้จริง แลใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้กิจการสามารถแข่งขันได้ในตลาด ที่นับวันการแข่งขันยิ่งมีความรุนแรง
มากขึ้นและกิจการสามารถดำรงอยู่ได้ และเติบโตในที่สุด

 

ค่าใช้จ่ายพนักงานหักได้ถึง.. 3 เท่า ‼

เนื่องจากจากสถานการณ์ Covid 19 ทางกรมสรรพากรได้ออกมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการหลายมาตรการ
หนึ่งในนั้นก็คือ มาตรการช่วยเหลือหักค่าใช้จ่ายพนักงานได้ 3 เท่า 

หลักเกณฑ์เงื่อนไขดังนี้!!

  1.   ต้องเป็นพนักงานที่อยู่ในระบบประกันสังคม
  2.  จำนวนพนักงานเดือน 4,5,6,7 ปี 63 ต้องไม่น้อยกว่าจำนวนพนักงานณ สิ้นเดือน 3 ปี 63
  3.  พนักงานต้องมีเงินได้ไม่เกิน 15000 บาทต่อเดือน
     

เมื่อเป็นไปตามเงื่อนไขข้างต้นแล้ว กิจการที่ใช้สิทธิยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล ต้องแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการจ่ายค่าจ้างที่จะนำมาใช้สิทธิตัวนี้ ผ่านทางเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ภายใน 150 วันนับแต่วันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี

 สำหรับ บริษัทไหนที่รอบระยะเวลาบัญชีสิ้นสุดวันที่ 31 ธันวาคม 2563 ก็จะต้องแจ้งข้อมูล ภายในวันที่ 30 พค. 2564





ขั้นตอนและเอกสารที่เกี่ยวข้อง...ในการขายทรัพย์สินเก่า !!!!

1.เมื่อเรามีทรัพย์สินเก่าที่ต้องการขาย เราต้องจัดทำรายละเอียดก่อนเป็นอันดับแรก

2.ตรวจสอบทรัพย์สินกับทะเบียนสินทรัพย์

3.เมื่อมีผู้ซื้อแล้ว ต้องขอหลักฐานแสดงตัวตนของผู้ซื้อ เช่น สำเนาบัตรประชาชน (กรณีเป็นบุคคล) หรือขอหนังสือรับรอง (กรณีเป็นบริษัท) หรือเอกสารเพื่อยืนยันตัวตนของผู้ซื้อ

4.บริษัทฯ ต้องจัดทำใบกำกับภาษีขายให้กับผู้ซื้อ (กรณีเป็นบริษัทที่จดทะเบียน VAT)

5.นำเงินที่ขายได้เข้าบัญชีบริษัท

6.กรณีที่เป็นรถบริษัท หรืออสังหาริมทรัพย์ ก็ต้องมีสัญญาซื้อขายรถด้วย

หมายเหตุ :  กรณีที่เป็นบริษัทที่จด VAT อย่าลืมยื่นภาษีขายกับกรมสรรพากรด้วยนะคะ

งบการเงิน เรื่องง่ายๆที่ผู้ประกอบการต้องรู้ !!

 

งบการเงินมีหลายประเภท แต่ที่ธนาคาร มักจะขอหลักๆ คืองบแสดงฐานะทางการเงิน (งบดุล) และงบกำไรขาดทุน

1.งบแสดงฐานะทางการเงิน คืองบที่แสดงว่า ณ เวลาหนึ่ง กิจการมีฐานะเป็นยังไง ฐานะดีมั้ย มีเงิน หรือมีสินทรัพย์แค่ไหนหรือมีหนี้มากน้อยเพียงใด
รวมถึงจากอดีต
ที่ผ่านมากิจการมีผลประกอบการดีหรือไม่ดี สิ่งเหล่านี้จะบอกไว้ในงบแสดงฐานะทางการเงินและทางธนาารก็จะใช้ข้อมูลในงบแสดง
ฐานะทางการเงิน ประกอบการพิจารณา
ฐานะของกิจการ และวิเคราะห์สัดส่วนของสินทรัพย์กับหนี้สิน และประเมินความสามารถในการจ่าย
ชำระหนี้ของกิจการได้ด้วย

     ในส่วนของงบดุล จะทำให้เราได้เห็นผลประกอบการของอดีต จนถึง ปัจจุบันได้ เพราะข้อมูลต่างๆ จะแสดงเป็นยอดสะสม
จุดสำคัญ ที่อยากชี้ให้เห็น คือ กำไร(ขาดทุน) สะสมในส่วนของตรงนี้

ผู้ประกอบการบางคน ก็สงสัยว่ามีขาดทุนสะสมขอกู้สินเชื่อได้ไหม => ขอได้นะคะ 
แต่งบการเงินในปีที่ขอสินเชื่อ ก็ควรจะต้องมีกำไร พอสมควรเพียงพอที่จะสามารถชำระหนี้ได้ในระยะเวลาที่ขอสินเชื่อ

2.งบกำไรขาดทุน เป็นตัวที่บ่งบอกว่า ในแต่ละปี กิจการมียอดขายหลักเป็นอย่างไร เติบโตขึ้นหรือไม่ ตลอดจนสุดท้ายกิจการมีกำไรที่ได้จากการทำธุรกิจ
มากน้อยเพียงใด
ซึ่งธนาคารจะใช้ในการประเมินความสามารถในการจ่ายชำระหนี้ในแต่ละปีถ้ากิจการมีกำไรเพียงพอที่จะจ่ายชำระคืนเงินกู้ได้ โอกาสที่ธนาคาร
จะปล่อยเงินกู้ให้กิจการก็มีสูง


จุดที่ต้องระมัดระวังเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุน คือ

    – รายได้หลักของธุรกิจ จำเป็นจะต้องมีความต่อเนื่อง และมีหลักฐานความต้องการจากลูกค้าที่น่าเชื่อถือ และสินค้าที่ผลิต/จำหน่ายหรือธุรกิจบริการ
ควรจะมาจากลูกค้าประจำและลูกค้าทั่วไป ในสัดส่วนที่น่าเชื่อถือและสอดคล้องกับตัวเลขในรายได้รวม

    –  ค่าใช้จ่ายในการขาย จะเป็นตัวเลขจากกระบวนการผลิต กำลังการผลิต วัตถุดิบ ควรจะมีตัวเลขไม่มากเกินไป หรือสามารถอธิบายด้วยหลักฐานใน
กระบวนการผลิตได้อย่างชัดเจน

    –  ค่าใช้จ่ายในการบริหาร  จะเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายเงินเดือน/ค่าคอมมิชชั่นพนักงานเป็นหลัก และค่าใช้จ่ายเงินเดือนของผู้บริหารทั้งหมด 

ข้อระมัดระวัง : อย่านำรายได้ไปใช้ส่วนตัวและมาบันทึกในค่าใช้จ่ายในการบริหาร เพื่อนำเงินสดออกจากบริษัทแบบผิดวัตถุประสงค์ 

      นอกจากงบแสดงฐานะทางการเงิน และงบกำไรขาดทุนแล้ว มีอีกงบหนึ่งที่ธนาคาร อาจจะขอ คือ งบกระแสเงินสด ซึ่งบางกิจการมีแต่บางกิจการอาจ
จะไม่ได้มีการจัดทำไว้
ซึ่ง งบกระแสเงินสด ก็มีความสำคัญอยู่เหมือนกัน คือ เป็นเครื่องมือที่จะใช้บอกนิสัยการบริหารจัดการของบริษัทได้อย่างดี 

 

ข้อระมัดระวัง : เจ้าหน้าที่สินเชื่อที่มีประสบการณ์ สามารถอ่านลักษณะการบริหารธุรกิจ การจัดการด้านการเงิน นิสัยของผู้บริหารได้จากงบกระแสเงินสดได้เลย
และถ้าเจ้าของกิจการพูดไม่ตรงกับงบการเงิน เขาก็จะมีการพิจารณาที่เข้มข้นมากขึ้น หรือขอเอกสารเยอะมากขึ้น


งบกระแสเงินสดจะประกอบด้วยกิจกรรม 3 กิจกรรมคือ

- กิจกรรมการดำเนินงาน ซึ่งก็คือกิจกรรมในการได้มา หรือใช้ไปของเงินสดจากการดำเนินธุรกิจ

- กิจกรรมการลงทุน คือกิจกรรมที่ได้มา หรือใช้จ่ายในกิจกรรมที่เกี่ยวกับการลงทุน เช่น การซื้อเครื่องจักร เป็นต้น เพื่อประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับจากการลงทุน
นั้นๆ ในอนาคต

- กิจกรรมการจัดหาเงิน คือกิจกรรมที่ใช้เพื่อจัดหาเงินมาใช้ในกิจการ เช่นการกู้ยืมเงิน หรือการคืนเงินกู้

   การที่ธนาคารวิเคราะห์กิจกรรมทั้ง 3 อย่างนี้เพื่อวิเคราะห์ว่ากิจการมีเงินสดที่ได้มาจากกิจกรรมไหนเป็นหลัก และมีการนำเงินสดใช้ไปกับกิจกรรมไหนบ้าง
เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวิเคราะห์ถึงความสามารถในการชำระเงินกู้ในอนาคต

 



ทำบัญชีของกิจการมาทั้งปีทำไป..เพื่ออะไร??

 

1. ทำงบการเงินเพื่อส่ง กรมสรรพากร   กำหนดการยื่นงบการเงิน ภายใน 150 วัน นับจากวันที่ในงบการเงิน ซึ่งวันที่ในที่นี้

หมายถึง วันที่ใน "รอบระยะเวลาบัญชี"  โดยปกติทั่วไป คือ ช่วง 1 ม.ค. - 31 ธ.ค  ถ้านับ 150 วันให้นับหลังจากวันที่ 31 ธ.ค. 

นั่นคือ จะต้องส่งงานการเงินให้กรมสรรพากร ภายใน วันที่ 30 พ.ค.

 

2. ทำงบการเงินเพื่อส่ง กรมพัฒนาธุรกิจการค้า  กำหนดการยื่นงบการเงิน ภายใน 1 เดือน นับจากวันที่จัดประชุมผู้ถือหุ้น 

ซึ่งการจัดประชุมผู้ถือหุ้น จะต้องทำภายใน 4 เดือน นับจากวันที่ 31 ธ.ค. นั่นก็คือ วันที่ 30 เม.ย.  ถ้านับไปอีก 1 เดือน 

คือ วันที่ 31 พ.ค.  ถึงกำหนดที่เราจะต้องส่งงบการเงินให้ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า 

 

3.ทำงบการเงินเพื่อใช้เป็นข้อมูลให้กับธนาคาร ถ้ากิจการที่มีการกู้เงินจากธนาคาร  ธนาคารก็จะขอ "งบการเงินประจำปี"ด้วย

4.ทำงบการเงินเพื่อการนำเอาข้อมูลไปใช้ในการบริหารจัดการของกิจการ  

 

 

รายงานทางบัญชี มีประโยชน์กว่าที่คิด!!

 

ผู้ประกอบการหลายท่านอาจจะคิดว่า งบการเงิน หรือรายงานทางบัญชี ไม่ได้มีประโยชน์อะไรมากนัก

 ใช้แค่นำส่งภาษีกับกรมสรรพากรในความเป็นจริงแล้ว บริษัทขนาดใหญ่ ส่วนใหญ่ ใช้ข้อมูลทางบัญชี มาใช้ประกอบในการวางแผนทั้งสิ้นไม่ว่าจะเป็น

-  การจัดทำงบประมาณ

-  การกำหนดเป้าในการขาย

-  การวางแผนการใช้จ่าย

-  หรือแม้แต่การวางแผนขายสินค้าตัวไหน หรือวางขายสินค้าเมื่อไหร่ เป็นต้น

ซึ่งการวางแผนเหล่านี้ จะสามารถทำได้อย่างมีหลักการ และมีความเป็นไปได้ จากข้อมูลรายงานทางบัญชีทั้งสิ้น บริษัทต่างประเทศ หรือบริษัทบ้านเราใหญ่ๆ
หลายบริษัทมักจะมีนักบัญชีอยู่ในทีมขาย เพื่อที่ทีมจะสามารถนำข้อมูลทางบัญชีมาใช้ในการจัดทำ Financial Management report เพื่อใช้ในการ
วางแผนการขาย และใช้การบริหารงานได้อีกด้วย

 

การที่เราจะจัดทำ Report ที่สามารถนำมาใช้ในการบริหารได้นั้น นักบัญชีต้องมีความรู้ความเข้าใจทั้งวิธีการทำ report และ Nature ของธุรกิจนั้นๆนอกจากการ
ที่จะต้องรู้ว่าทำ Report อย่างไรแล้วนั้น ที่สำคัญ... นักบัญชีจะต้องวางแผนและวางระบบบัญชีที่ถูกต้อง เพื่อให้ข้อมูลที่จะนำมาใช้ทำ Report เป็นข้อมูลที่ถูกต้อง
แม่นยำ และเชื่อถือได้

ค่าเบี้ยประกันชีวิต ลง ค่าใช้จ่ายบริษัทได้

 

กรรมการหลายท่านคงเคยมีตัวแทนประกันชีวิตมานำเสนอขายกรมธรรม์กันอยู่แล้ว  แต่รู้หรือไม่ว่าค่าเบี้ยประกันชีวิต สามารถนำมาลงเป็นค่าใช้จ่ายให้กับบริษัทได้
ถ้าทำอย่างถูกต้อง และถูกวิธี

 

สำหรับวิธีการที่จะทำให้ถูกต้องและถูกวิธี มีดังนี้

1.ต้องมีมติจากที่ประชุมของบริษัท ว่า สามารถจ่ายค่าเบี้ยประกันชีวิตให้กับกรรมการ เป็นการทั่วไป โดยไม่เฉพาะเจาะจง

2.กรรมการจะต้องนำค่าเบี้ยประกันชีวิตไปรวมเป็นรายได้ เพื่อนำไปรวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

 

สำหรับค่าสินไหมทดแทนที่ได้จากกรมธรรม์ จะดำเนินการได้ดังนี้

1.ถ้าตามกรมธรรม์ระบุว่าค่าสินไหมทดแทนให้ถือเป็นประโยชน์จ่ายให้กับบริษัท ทางบริษัทจะต้องนำมาลงเป็นรายได้ เพื่อรวมเป็นคำนวณภาษีเงินได้นิติบุคคล

2.แต่ถ้ากรมธรรม์ระบุว่าค่าสินไหมทดแทนให้ถือเป็นประโยชน์จ่ายให้กับกรรมการ หรือทายาท ค่าสินไหมทดแทนจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

เอกสารบัญชีควรเก็บกี่ปี??



คำถามยอดฮิต ที่หลายๆ บริษัทมักจะสอบถามกันมา ว่าจะเก็บเอกสาสรไว้ 2 ปีก็กลัวจะน้อยไป จะเก็บสัก 10 ปีก็ต้องหาที่เก็บวุ่นวาย เกิดค่าใช้จ่าย แล้วต้องเก็บ
ไว้นานเท่าไหร่ถึงจะเหมาะสม  
โดยปกติในส่วนของกรมสรรพากรและกรมพัฒนาธุรกิจการค้า จะต้องเก็บรักษาไว้ ไม่น้อยกว่า 5 ปี แต่เราจะมาพูดถึงรายละเอียด
ที่สำคัญเพิ่มเติมดังนี้


การเก็บรักษาเอกสารของทางกรมพัฒนาธุรกิจการค้า

ตามพระราชบัญญัติการบัญชี พ.ศ. 2543 กำหนดให้ผู้มีหน้าที่จัดทำบัญชี "ต้องเก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลงบัญชีไว้เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี 
นับแต่วันปิดบัญชีหรือจนกว่าจะมีการส่งมอบบัญชี 
และเพื่อประโยชน์ในการตรวจสอบอธิบดีมีอำนาจกำหนดให้เก็บรักษาบัญชีและเอกสารที่ต้องใช้ประกอบการลง
บัญชีไว้เกิน 5 ปี  แต่ไม่เกิน 7 ปีได้" หมายความว่า ถ้ากรณีที่กิจการถูกตรวจสอบ อธิบดีมีอำนาจเรียกเอกสารย้อนหลัง ได้ถึง 7 ปี

 

การเก็บรักษาเอกสารภาษีมูลค่าเพิ่มขิองทางกรมสรรพากร  

ตามประมวลรัษฎากร มาตรา 87/3 กำหนดให้ผู้ประกอบการจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม “ต้องเก็บและรักษารายงานเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบกำกับภาษี
และสำเนาใบกำกับภาษีพร้อมทั้งเอกสารประกอบการรายงานหรือเอกสารอื่นที่อธิบดีกรมสรรพากรกำหนดไว้ เป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี ” นับแต่วันที่ได้
ยื่นแบบภาษีหรือวันทำรายงาน แล้วแต่กรณี
และกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีจะกำหนดให้เก็บและรักษาไว้เกิน 5 ปี  แต่ไม่เกิน 7 ปีได้ คล้ายกับข้อแรก
 

    อย่างไรก็ตาม สรรพากรมีสิทธิตรวจสอบภาษีย้อนหลังและมีอำนาจออกหมายเรียก หรือประเมินภาษีได้  ตามมาตรา 19 แห่งประมวลรัษฎากรและ
มาตรา  193/30 แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์  รายละเอียดดังนี้ 

 

ตรวจสอบย้อนหลังได้  2 ปี  >>   กรณีมีการยื่นแบบภาษีทุกปี ไม่ว่าจะยื่นแบบถูกหรือผิดก็ตาม   

ตรวจสอบย้อนหลังได้   5 ปี  >>  กรณีเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า มีการหลีกเลี่ยงภาษี     

ตรวจสอบย้อนหลังได้  10 ปี  >>  กรณีที่ไม่เคยยื่นแบบภาษี

 

ประมวลรัษฎากรไม่ได้ระบุระยะเวลาการออกหมายเรียกไว้  จึงใช้กำหนดระยะเวลาตามอายุความ ทั่วไปจากเจ้าพนักงานที่มีอำนาจประเมินเรียกเก็บภาษีได้
ภายใน 10 ปีนับตั้งแต่วันที่พ้นกำหนดเวลายื่นแบบแสดงรายการนั้น ๆ

   ทีนี้เราก็ได้ทราบกันแล้วนะค่ะว่าเราควรจะเก็บเอกสารทางบัญชี และภาษีกันกี่ปีดี อันนี้ก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมของแต่ละกิจการ อาจจะต้องดูเรื่อง
ค่าใช้จ่ายในการเก็บรักษาเอกสารประกอบกันด้วยนะคะ

"ช้อปดีมีคืน" กับ "คนละครึ่ง" เลือกแบบไหนดี!!
 

ใครใช้สิทธิ์ช้อปดีมีคืน ได้บ้าง ??
          1. เป็นผู้ที่เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2563 ที่จะยื่นแบบภาษีในต้นปี 2564
          2. ไม่เป็นผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 
          3. ไม่เป็นผู้ที่ลงทะเบียนในโครงการคนละครึ่ง 
(บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจน คือ บัตรที่ออกโดยกรมบัญชีกลาง ตามนโยบายของรัฐ ที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายบางอย่างเท่านั้น สิทธิที่ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้รับก็คือ วงเงิน 200-300 บาทต่อเดือน ( ใครรายได้มากกว่า 30,000 บาท / ปี ได้วงเงิน 200 บาท ใครรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท / ปี ได้วงเงิน 300 บาท ) ใช้สำหรับนำไปซื้อสินค้าต่าง ๆ ในร้านธงฟ้าประชารัฐ และร้านค้าอื่นๆที่เราสะดวกไปซื้อ)

ลงทะเบียน ช้อปดีมีคืน ได้ที่ไหน ?

               ผู้ใช้สิทธิ “ช้อปดีมีคืน” ไม่จำเป็นต้องลงทะเบียน เพื่อใช้สิทธิผ่านเว็บไซต์ไหน เพราะสามารถใช้สิทธิช้อปดีมีคืนได้ทันที ด้วยการเริ่มช้อปปิ้ง
ตั้งแต่วันที่ 23 ตุลาคม ไปจนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2563

 

ลดหย่อนภาษีได้เท่าไร ?
   
      สามารถลดหย่อนภาษีได้ตามจริง แต่ไม่เกิน 30,000 บาท แต่ไม่ใช่ว่าจะนำมาลดภาษีได้ทั้งหมด 30,000 บาท  เพราะความจริงแล้วจะลดหย่อนภาษีได้เท่าไรขึ้นอยู่กับรายได้สุทธิของแต่ละคน ซึ่งแต่ละคนไม่เท่ากัน

 

 

สินค้าอะไรลดหย่อนภาษีได้บ้าง ?

          สำหรับสินค้าที่สามารถนำไปลดหย่อนภาษีได้นั้น จะต้องเป็นสินค้า / บริการ ที่มีการเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) และร้านค้าสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบได้ ยกเว้น  การซื้อหนังสือ, e-Book หรือสินค้า OTOP  ใช้ใบเสร็จรับเงินที่ระบุชื่อของผู้ซื้อได้
        

หมายหตุ       

ทองคำแท่ง     ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ เพราะทองคำแท่งไม่ต้องเสียภาษีVAT                                                                                             

ทองรูปพรรณ  ใช้สิทธิลดหย่อนภาษีได้เฉพาะ “ค่ากำเหน็จ” เท่านั้น  เพราะตัวทองคำไม่เสียภาษี VAT

 

 

สินค้าอะไรลดหย่อนภาษี ไม่ได้บ้าง ?

  1. ข้าวสาร ผัก – ผลไม้สด เนื้อสัตว์ ไข่ นม ถือเป็นสินค้าเกษตร ที่ยังไม่ได้แปรรูป ซึ่งได้รับการยกเว้น ภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) อยู่แล้ว  จึงนำไปใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้

  2. อาหารสัตว์ เช่น อาหารสุนัข แมว ปลา สุกร ฯลฯ จะบรรจุกระป๋อง ภาชนะ หีบห่อ หรือไม่ก็ตาม จัดเป็นสินค้าที่ได้รับการยกเว้นภาษี VAT  ดังนั้น ไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้

  3. การจ่ายเบี้ยประกันภัยรถยนต์ ไม่สามารถใช้สิทธิ์ได้ เนื่องจากประกันรถยนต์ มีระยะเวลาคุ้มครอง นอกเหนือช่วง  วันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

  4. ทันตกรรม ทำเลสิก ทำศัลยกรรม เข้าคอร์สเสริมความงาม ตรวจสุขภาพ ฯลฯ ค่ารักษาพยาบาลเหล่านี้ได้รับการยกเว้น VAT   จึงไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้

  5. บริการที่เสียค่าสมาชิกรายปี เช่น สมาชิกฟิตเนสรายปี หากเป็นการจ่ายรายปี จะไม่สามารถใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีได้ เนื่องจากมีระยะเวลาให้บริการนอกเหนือจากช่วงวันที่ 23 ตุลาคม – 31 ธันวาคม 2563

  6. บัตรของขวัญ (Gift Voucher) ใช้ลดหย่อนภาษีไม่ได้ เพราะบัตรของขวัญ ไม่ได้เสียภาษีมูลค่าเพิ่ม VAT

  7. ค่าเทอม และคอร์สเรียนพิเศษต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นของราชการ หรือเอกชน ถือเป็นการให้บริการทางการศึกษาที่ไม่อยู่ในระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม  จึงใช้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีไม่ได้

 

สินค้า/บริการ ที่ไม่ได้รับสิทธิเข้าร่วมโครงการ มีอะไรบ้าง ?

  1. เหล้า เบียร์ ไวน์
  2. บุหรี่  ยาสูบ
  3. ค่าน้ำมันและก๊าซ ที่ใช้เติมยานพาหนะ
  4. ค่าซื้อรถยนต์ มอเตอร์ไซต์  เรือ
  5. ค่าหนังสือพิมพ์และนิตยสาร   ทั้งรูปเล่มและอิเล็กทรอนิกส์ 
  6. ค่าบริการจัดนำเที่ยวและมัคคุเทศก์ 
  7. ค่าที่พัก โรงแรม   

ต้องมีหลักฐานอะไรบ้าง ?

  • ผู้ใช้สิทธิ์จะต้องซื้อสินค้ากับผู้ประกอบการที่จดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT)
  • ร้านค้าสามารถออกใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบได้



3 เรื่องที่ต้องระวังถ้าไม่อยากเสียภาษีก้อนโต!!


การที่เราคิดจะเปิดกิจการสักอย่างนั้นง่ายมาก แต่ถ้าคิดจะเลิก อย่าคิดว่าจะเลิกกันได้ง่าย ๆ นะคะ ไม่ง่ายเลยค่ะ หากทำไปโดยพละการ หรือ ไม่รู้หลักการที่ถูกต้อง
จะมีปัญหายุ่งยากตามมาเมื่อผู้ประกอบการตัดสินใจจะเลิกกิจการแล้ว 3 เรื่องต้องระวัง หากไม่อยากเสียภาษีก้อนโต มีอะไรบ้าง??


1.
สินทรัพย์ หรือ สินค้าคงเหลือ ที่ผู้ประกอบการมีไว้ในการประกอบกิจการ ณ วันเลิกประกอบกิจการ สรรพากรให้ถือเป็นการขายโดยให้ใช้ราคาตลาด

ในวันเลิกกิจการนั้น  ดังนั้น ผู้ประกอบการมีหน้าที่ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มและถ้าการขายสินทรัพย์ หรือ สินค้าคงเหลือ นั้นมีกำไรเกิดขึ้น ก็ต้องรับรู้

เป็นรายได้ของบริษัทเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคค

 

2.เงินที่กรรมการให้บริษัทกู้ยืม เมื่อเลิกกิจการกรรมการจะต้องยกหนี้ให้กับบริษัท จะถือว่าบริษัทมีรายได้อื่นจากการได้รับการยกหนี้รายได้อื่นนี้จะ

ต้องถูกนำไปรวมเป็นรายได้ของบริษัทเพื่อเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล

 

3.กำไรสะสม ณ วันเลิกประกอบกิจการ  มีประเด็นทางภาษี ดังนี้
 

กรณีกิจการเลือกจ่ายเงินปันผล ก่อนจดทะเบียนเลิก

                                        การจ่ายเงินปันผลหรือส่วนแบ่งให้กับผู้ถือหุ้นตามกติกาที่กฎหมายกำหนด

                                                           ต้องหักภาษี ณ ที่จ่ายอัตรา 10%

                                           ผู้ถือหุ้นเลือกที่จะนำไปรวมกับเงินได้อื่นเพื่อคำนวณภาษีหรือไม่ก็ได้

 

กรณีไม่ปันผล และค้างเป็นกำไรสะสม ณ วันเลิก (หลังวันจดทะเบียนเลิก)

                                         กำไรสะสมที่จ่ายให้กับผู้ถือหุ้น ถือเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากการเลิกกิจการ

                                                       ต้องหักภาษี ณ ที่จ่าย อัตราก้าวหน้า

                                                   ผู้ถือหุ้นต้องนำไปรวมเป็นเงินได้เพื่อเสียภาษี

 

 

 

 

 การทำ STOCK ง่ายๆสำหรับผู้ประกอบการมือใหม่

 

 

เรามีวิธีง่ายๆๆ ในการทำ STOCK ให้กับผู้ประกอบการมือใหม่  สามารถดูได้เลยค่ะ 

 



การทำบัญชีอย่าง่ายโดยใช้ Excel EP.1

 

ผู้ประกอบหลายท่านคงเจอปัญหาการทำบัญชีของกิจการ สำหรับผู้ประกอบที่ไม่ได้จ้างพนักงานบัญชี  ทางเราจึงมีวิธีอย่างง่ายๆ 

ในการทำบัญชีโดยExcel มาสอนให้กับผู้ประกอบการ สามารถดูได้เลยค่ะ 



การทำบัญชีอย่าง่ายโดยใช้ Excel EP.2 

ผู้ประกอบหลายท่านคงเจอปัญหาการทำบัญชีของกิจการ สำหรับผู้ประกอบที่ไม่ได้จ้างพนักงานบัญชี  ทางเราจึงมีวิธีอย่างง่ายๆ 

ในการทำบัญชีโดยExcel มาสอนให้กับผู้ประกอบการ สามารถดูได้เลยค่ะ